วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กรรมเก่า

เราได้ดูเรื่องการทำความดีมาแล้วถึงเจ็ดอย่าง คราวนี้เราจะมาดูการ ทำความดีสามอย่างสุดท้าย คือ
๘. ทำบุญด้วยการฟังธรรม
๙. ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรม
๑๐. ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง http://www.youtube.com/watch?v=Y_ujuHBtExQ

การฟังธรรมเป็นการช่วยพัฒนาจิตอย่างหนึ่ง ช่วยลดความลุ่มหลง
มัวเมาเรื่องโลกๆ ช่วยหยุดยั้งกระแสดึงดูดของทางโลกที่มักจะพาไหล
ลาดเอียงไปสู่เบื้องต่ำ อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง หรืออาจยาวนานกว่านั้น
หากผู้ฟังจะน้อมนำไปปฏิบัติให้ยืดยาวออกไป การฟังธรรมมักทำให้เกิด
ความสงบเย็นในจิตใจเพราะสามารถดับความเร่าร้อนในจิตใจลงได้ การฟังธรรม
เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่รักจะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้าไม่หยุดชะงัก และหาก
ผู้ฟังฟังอย่างตั้งใจ อย่างมีสติรู้ตัว มีสัมมาสมาธิ อานิสงส์ของการฟังธรรม
อาจทำให้สามารถบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟังธรรมนั้นเลย ดังที่ปรากฏในสมัย
พุทธกาล การฟังธรรมจะให้ได้ประโยชน์มากหรือน้อย นอกจากจะขึ้นอยู่กับ
ผู้สอนยังขึ้นอยู่กับผู้ฟังด้วยเช่นกัน ว่าจะแปลความหมายของธรรมที่ฟัง
ไปในลักษณะใด และวางอารมณ์ในขณะฟังธรรมไว้อย่างไร การฟังธรรม
เพื่อให้ถึงธรรมจะต้องไม่ฟังในลักษณะจับผิดหรือเพ่งโทษผู้สอน แต่เรื่องนี้
ก็ช่วยไม่ได้ที่คนจำนวนไม่น้อยจะเป็นเช่นนี้ โดยเฉพาะกับผู้สอนที่ยังไม่เคย
รู้จักหรือมีความศรัทธากันมาก่อน แต่การฟังธรรมชนิดที่ผู้สอนพูดไป
คนฟังก็คุยกันไป ฟังธรรมจบก็แทบไม่รู้ว่าผู้สอนพูดเรื่องอะไรบ้าง อย่างนี้
อานิสงส์จากการฟังธรรมย่อมไม่เกิดอย่างแน่นอน เผลอๆ อาจเป็นการ
ทำบาปด้วยซ้ำไป เพราะไปขัดขวางการฟังธรรมของผู้อื่นที่เขาอยากฟังธรรม
จริงๆ
การสั่งสอนธรรมเป็นการให้ทานที่มีอานิสงส์สูงสุด ดังคำกล่าวที่เรา
คุ้นเคยที่ว่า “การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง” ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง
ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยพากันนิยมพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน
กันอย่างออกหน้าออกตาอยู่ในขณะนี้ และไม่น่าเชื่อที่การสั่งสอนธรรม
ให้คนอื่นฟังนั้นก็มีอานิสงส์ทำให้ผู้สอนสามารถบรรลุธรรมในขณะที่กำลัง
สอนอยู่ได้ด้วย เพราะเวลาที่กำลังสอนอยู่นั้นตนเองย่อมได้ยินเสียงที่สอน
ผู้อื่นอยู่ด้วย ยิ่งคนสอนมีสมาธิตั้งใจสอน เอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนสอน
สอนไปสอนมาเป็นการตอกย้ำและต่อยอดความเข้าใจของตนเองให้มั่นคง
และเพิ่มพูนขึ้นได้ อะไรบางอย่างที่เคยติดขัดข้องใจมาก่อนก็อาจมาเกิดสว่าง
โชติช่วงเอาตอนที่หาเหตุผลมาอธิบายให้คนอื่นฟัง ยิ่งหาเหตุผลมามากๆ
ตัวเองก็ยิ่งแจ่มแจ้งชัดเจนมากขึ้น ทำให้บรรลุธรรมในขณะที่สอนอยู่นั้น
ได้เลย ข้อสำคัญที่พึงระวังอย่างหนึ่งของคนที่สอนธรรมะก็คือต้องมั่นใจว่า
ธรรมะที่ตนจะสอนใครต่อใครนั้นเป็นธรรมะที่ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธ
อย่างแท้จริง เพราะหากนำคำสอนที่ผิดๆ มาสอนผู้คน แทนที่จะเป็นการทำดี
หรือทำบุญ ก็จะกลายเป็นทำบาปไปได้ง่ายๆ โดยเฉพาะคำสอนที่ตนเอง
ก็ทราบดีอยู่แก่ใจว่าไม่ถูกต้องตรงกับคำสอนของศาสนาพุทธเลย
ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง คือการมีหรือการสร้างทัศนคติ
ที่ถูกต้องตรงกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ ไม่หลงบูชานับถือ ผีสาง
นางไม้ ต้นไม้ จอมปลวก อะไรประมาณนี้ ไม่เป็นผู้หลงเชื่ออะไรง่ายๆ
โดยไม่ไตร่ตรองด้วยหลักเหตุผล ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ที่สำคัญคือเชื่อหลัก
ของกรรม* คือเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผล
ของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรม
เป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม
จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น หรือพูดสั้นๆ ก็คือเชื่อว่า ทำดีต้องได้ดี ทำชั่ว
ต้องได้ชั่ว อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าผลของกรรมนั้นไม่ใช่สมการชั้นเดียว
แต่เป็นสมการหลายชั้น มีเงื่อนเวลาและเงื่อนไขต่างๆ ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน
แถมยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นข้ามภพข้ามชาติเข้าไปอีกด้วย ก็เลยยิ่งเพิ่มดีกรี
ความยุ่งเหยิงให้มากขึ้น ทำให้เมื่อดูแต่เพียงชาตินี้ชาติเดียว บางครั้ง
จึงเหมือนกับว่าทำดีไม่ได้ดี และทำชั่วไม่ได้ชั่ว
ลองมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมกันสักนิด เพื่อจะได้เห็นว่าเรื่อง
ของกรรมนั้น ไม่ใช่สมการชั้นเดียวจริงๆ
กรรม** อาจแบ่งเป็น ๑. กุศลกรรม และ ๒. อกุศลกรรม หรือ
อาจแบ่งเป็น ๑. กายกรรม การกระทำทางกาย ๒. วจีกรรม การกระทำ
ทางวาจา และ ๓. มโนกรรม การกระทำทางใจ
กรรมยังอาจจำแนกตามหลักเกณฑ์การให้ผล ที่อาจแยกออกได้เป็น
๑๒ ประเภทคือ
จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑. กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
คือในภพนี้ ๒. กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
๓. กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป ๔. กรรมเลิกให้ผล จำแนกการให้
ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕. ชนกกรรม กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำ
เติมต่อจากชนกกรรม ๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามา
บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยน
ทุเลาเบาลงหรือสั้นเข้า ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือ
กรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่าง
นั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว จำแนกตามลำดับความแรง
ในการให้ผล ได้แก่ ๙. ครุกกรรม กรรมหนักให้ผลก่อน
๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน
ให้ผลรองลงมา ๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรม
ใกล้ตาย ถ้าไม่มีสองข้อก่อน (ข้อ ๙ และ ๑๐) ก็จะให้ผลก่อนอื่น
๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือ
เจตนาอ่อนหรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่น
ให้ผล
ในเมื่อกรรมมีหลากหลายประเภท ทำหน้าที่แตกต่างกัน และกำหนด
เวลาให้ผลก็ต่างกัน มีทั้งที่เป็นตัวช่วย ตัวดึง ตัวดัน ตัวดับ อย่างนี้เราจึง
ไม่ควรมาเสียเวลาให้ความสนใจกับกรรมเก่าๆ ที่เราเคยทำไว้แล้วในอดีตทั้ง
ในชาตินี้และชาติก่อนๆ เพราะเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้แล้ว
อ๊ะๆ ไม่ใช่ว่าชีวิตของเราต่อแต่นี้ไปต้องล่องลอยปล่อยให้เป็นไปตามกรรม
เก่าเสียทั้งหมด ตรงกันข้ามเพราะเหตุที่ไม่ทราบว่าเราเคยทำอะไรไว้บ้างใน
ชาติก่อนๆ เราจึงควรรีบเร่งทำกรรมที่เป็นกุศลให้มากเข้าไว้ โดยหวังว่าจะ
มาชิงให้ผลตัดหน้ากรรมไม่ดีทั้งหลายในอดีต หรือมาผ่อนคลายตัดรอน
อกุศลกรรมที่กำลังส่งผลอยู่หรือที่กำลังรอคิวใกล้เข้ามา และเพื่อเพิ่มความ
มั่นใจว่าเราจะเอาชนะกรรมเก่าที่เป็นอกุศลได้จริง เราจึงควรระมัดระวัง
ความเคยชินที่ทำอยู่เป็นประจำบ่อยๆ มิให้เป็นการก้าวล่วงเบียดเบียนคน
และสัตว์อื่นด้วย เพราะแม้เป็นบาปเพียงเล็กน้อยแต่ถ้าทำอยู่เป็นเนืองนิตย์
ก็จะให้ผลรุนแรงได้ นอกจากนี้พึงถอยห่างจากอนันตริยกรรม**
ซึ่งถือเป็นกรรมหนักสุดๆ ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน มีอยู่ด้วยกัน
๕ อย่างคือ ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยัง
พระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และทำสงฆ์ให้แตกกัน การเอาชนะกรรมเก่าต้องเอา
กุศลกรรมเข้าสู้ กุศลกรรมดีๆ ก็มีให้เลือกทำอยู่แล้วตั้งสิบอย่างดังที่ได้กล่าว
มาแล้วทั้งหมด โดยที่การภาวนาเป็นกุศลสูงสุดสามารถหยุดยั้งผลของ
กรรมไม่ดีหลายๆ อย่างได้
ที่มา *สารธรรม รวบรวมและเรียบเรียง โดย นิตย์ จารุศร
**พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น