วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

องค์กรอรูปนัย ( Virtual Organization)

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม โดยเฉพาะกระแสการพัฒนาของระบบเทคโนโลยี ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจทั่วโลก องค์กรที่จะสามารอยู่รอดในระยะยาวได้จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรที่สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่นับวันยิ่งซับซ้อนได้ องค์กรอรูปนัยเป็นทางเลือกหนึ่งของรูปแบบองค์กรที่สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวให้แก่องค์กรได้

องค์กรอรูปนัยคืออะไร?
องค์กรอรูปนัย ( Virtual organization ) เป็นหนึ่งในรูปแบบขององค์กรแบบเครือข่ายที่มีการเชื่องโยงองค์กรธุรกิจอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน เสมือนเป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่า และใช้ความชำนาญเฉพาะด้านหรือจุดแข็งของแต่ละองค์กรในการในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้แก่กัน โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในการเชื่อมโยงและติดต่อประสานงาน
( Rahman and Bhattachryya 2002 ; 5 )
โดยทั่วไปแล้วองค์กรอรูปนัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ โดยในลักษณะแรก องค์กรอรูปนัย เป็นองค์กรที่พนักงานแต่ละคนปฏิบัติหน้าที่ โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยง ดังนั้นพนักงานแต่ละคนขององค์กรจะกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างกันไป ลักษณะต่อมาองค์กรอรูปนัย เป็นองค์กรที่ มีการสร้างกลุ่มพันธมิตร โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรที่มีความชำนาญเฉพาะทางเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมในการสร้างคุณค่าให้แต่ละองค์กร และลักษณะสุดท้าย องค์กรอรูปนัยอาจเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการมุ่งเน้นเฉพาะในส่วนของกิจกรรมการสร้างคุณค่าที่ตนเองมีความชำนาญ และมีการใช้ประโยชน์จากองค์กรอื่นโดยการทำข้อตกลงให้ประกอบกิจกรรมบางอย่างแทน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ตนเองไม่มีความชำนาญ หรือต้องใช้ต้นทุนในการประกอบกิจกรรมสูง ( Ariss , Nikodym and Cole – Laramore 2002 ; 2 )
เมื่อกล่าวถึงในทางทฤษฎี องค์กรอรูปนัย ไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานส่วนกลางในการควบคุม ( Central office ) ไม่จำเป็นต้องมีแผนผังองค์กร ( Organization chart ) หรือแม้แต่ลำดับชั้นในการบริหาร ( Dess, Rasheed, Mclaughlin and Priem 1995 ; 5 ) แต่ในทางปฏิบัติแล้วองค์กรอรูปนัยส่วนมาก จะยังคงไว้ซึ่งสำนักงานส่วนกลางที่คอยทำหน้าที่ประสานงานอยู่ ตัวอย่างขององค์กรในลักษณะนี้ก็อย่างเช่น บริษัท นอร์ทเทิรน เทเลคอม จำกัด (Northern Telecom) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งในประเทศอเมริกา มีการก่อตั้งสำนักงานขนาดที่ไม่ใหญ่มากและมีพนักงานจำนวนหนึ่งปฏิบัติงานอยู่ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมประสานงาน ทำให้บริษัทสามารถประหยัดต้นทุนค่าเช่าและต้นทุนในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างมากในแต่ละปี (Casio 2000 ; 1 ) ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะมุ่งเน้นศึกษาองค์กรอรูปนัยในลักษณะดังกล่าว

ทำไมองค์กรอรูนัยจึงเกิดขึ้น?
เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่ารวดเร็ว และนับวันยิ่งมีความซับซ้อน ประกอบกับกระแสของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ซึ่งส่งผลทำให้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเป็นไปในรูปแบบที่เชื่อมโยงและใกล้ชิดกัน มากขึ้น ( One – world business ) การแข่งขันระหว่างองค์กรเริ่มทวีความรุนแรง แนวโน้มการแข่งขันอยู่ในระดับระหว่างประเทศ มีการเปิดเขตการค้าเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินงานขององค์กรเริ่มขาดแคลน จากกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงทำให้องค์กรไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด ดังนั้นโครงสร้างองค์กรที่เคยมีประสิทธิภาพในอดีตจึงไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารองค์กรจึงพยายามปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพื่อที่จะสามารถดำรงหรือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
เหตุผลแรกที่ผู้บริหารของหลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างองค์กรมาเป็นองค์กรแบบอรูปนัย เนื่องจากองค์กรในรูปแบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการและสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว กล่าวคือการองค์กรอรูปนัยมีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในลักษณะชั่วคราวมากกว่าถาวร ( Dess, Rasheed, Mclaughlin and Priem1995 ; 5) ดังนั้นจึงสามารถเลือกสรรองค์กรคู่ค้าที่มีมาตรฐานและสามารถปรับเปลี่ยนองค์กรคู่ค้าหรือกลุ่มพันธมิตรได้ ( Alliances ) เมื่อความต้องการของตลาดหรือสภาพแวดล้อมขององค์กรเปลี่ยนไป หรือแม้แต่เมื่อองค์กรหนึ่งสามารถหาองค์กรคู่ค้าใหม่ที่ดำเนินกิจกรรมได้ดีกว่า ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ( Abbe 1997 ; 6 – 7 )
เหตุผลต่อมาคือ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้น จึงทำให้องค์กรหนึ่งๆไม่สามารถจัดหาหรือควบคุมทรัพยากรได้ด้วยตนเองทั้งหมด ดังนั้นองค์กรหนึ่งจึงต้องมีการพึ่งพาองค์กรอื่น (นำชัย เติมศิริเกียรติ 2545 ; 6-9 ) และเนื่องจากองค์กรหนึ่งๆก็จะมีจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง เพื่อเป็นการเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อน องค์กรจึงต้องมีการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์กรอื่น( Outsourcing ) ด้วยวิธีนี้จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันนี้มักเป็นองค์กรที่ดำเนินงานภายใต้แนวคิดขององค์กรแบบอรูปนัย ซึ่งจะยังคงดำเนินกิจกรรมที่เป็นจุดแข็งของตนเองและ ทำการมอบหมายให้องค์กรอื่นทำกิจกรรมการผลิตที่องค์กรไม่มีความชำนาญ ( Donlon 1997; 2 ) ตัวอย่างที่สามารถทำให้มองเห็นภาพมากยิ่งขึ้น เช่น บริษัท แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ จำกัด ( Apple Computer ) มีข้อจำกัดในเรื่องกำลังการผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้ค ( PowerBook ) และไม่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเทคโนโลยีขนาดเล็ก จึงทำสัญญากับบริษัท โซนี่ คอร์เปอเรชั่น ( Sony Corporation ) ซึ่งมีความชำนาญและมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยให้ทำการผลิตแทน ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ Apple Computer สามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดได้ และสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น (Dess, Rasheed, Mclaughlin and Priem 1995 ; 3 – 4 )
สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดองค์อรูปนัยขึ้นมาคือ ความพยายามในการลดต้นทุน เนื่องจากองค์กรอรูปนัยมีลำดับขั้นในการบริหารที่แบนราบ หรือแทบจะไม่มีลำดับชั้นในการบริหาร เนื่องจากมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการจัดการ หน้าที่ต่างๆถูกกระจายไปให้องค์กรภายนอกที่มีความเชียวชาญทำแทน ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุนในการบริหาร ( Bureaucratic cost ) และต้นทุนในการผลิต
ผู้เขียนมีความเห็นว่าการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทำให้ต้นทุนในการบริหารขององค์กรลดลงได้จริงแต่อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยียังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในเรื่องของต้นทุนเริ่มแรก และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีผู้บริหารจะต้องมั่นใจว่าระบบทำงานได้โดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด คำถามที่ตามมาก็คือผู้บริหารควรให้ความเชื่อถือเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นผู้บริหารจะต้องมีแผนรองรับที่รัดกุม (Contingency plan) ในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น

เตรียมความพร้อมสู่องค์กรอรูปนัย
ถึงแม้ว่าแนวความคิดเกี่ยวกับองค์กรอรูปนัยจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรอรูปนัยสามารถพัฒนาไปไกลมากกว่าที่เคยเป็นและเนื่องจากความสำเร็จขององค์กร ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการดำเนินงานขององค์กรอื่น และความสามารถในการบริหารจัดการกับพนักงานที่อยู่ต่างพื้นที่กัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารองค์กรอรูปนัยจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆต่อไปนี้
ในส่วนแรกนั้นผู้จัดการองค์กรควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ และนโยบายขององค์กรที่ชัดเจน โดยคำนึงว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรประเภทใดในอุตสาหกรรม จากนั้นจึงวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร ส่วนมี่เป็นจุดแข็งผู้บริหารควรจัดให้มีการดำเนินกิจกรรมนั้นๆในองค์กร ส่วนที่เป็นจุดอ่อนจึงค่อยแก้ไขด้วยการใช้ประโยชน์จากความชำนาญเฉพาะด้านขององค์กรอื่น
ในส่วนต่อมาคือ การเตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบเทคโนโลยีพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินงานในสภาพแวดล้อมใหม่ที่เป็นแบบอรูปนัยเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสารรวมถึงควบคุมองค์กรคู่ค้าและพนักงานที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆกัน และการที่องค์กรขาดสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ดังนั้นระบบเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารมีความสำคัญมากในการ ติดต่อ ควบคุม พนักงาน ด้วยเหตุนี้ระบบเทคโนโลยีจึงต้องมีความมั่นคงและมีปริมาณที่เพียงพอ ตัวอย่างขององค์กรที่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เช่น Ford Motor Company และ Delta Air Lines ให้คอมพิวเตอร์แก่พนักงานไปใช้ที่บ้าน เพื่อตอบสนองการทำงานในองค์กรอรูปนัย ( Casio 2000 ; 5 )
ในด้านบุคลากรนั้นผู้บริหารองค์กรจะต้องมีการปลูกฝังให้เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในองค์กร Casio ( 2000 ; 4 ) กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กรอรูปนัยจะต้องมีการจัดการฝึกอบรมพนักงานในช่วงแรกก่อน เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับองค์กร การใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ตลอดจนเปิดโอกาสเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันก่อน
อีกส่วนที่สำคัญมากคือการเตรียมความพร้อมในการจัดการกับองค์กรอิสระที่เราจะเข้าไปเชื่อมโยงด้วย ผู้บริหารจะต้อศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ใช้ในการจัดการควบคุมกับองค์กรคู่ค้า หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic alliances) ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่กันและกัน โดยกลยุทธ์การสร้างพันธมิตร มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การทำสัญญาระยะยาว ( Long term contract ) , การสร้างเครือข่าย (Network ) , การถือหุ้นส่วนน้อย ( Minority ownership ) และการร่วมทุนกันสร้างธุรกิจ
(Joint venture ) ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะความเป็นทางการที่ต่างกัน ( Daboub 2002 ; 1 – 2 , Jones 2001 ;179 – 180 )
ผู้เขียนคิดว่าการเตรียมความพร้อมในส่วนประกอบต่างๆข้างต้นให้สอดคล้องกัน จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความสำเร็จให้แก่องค์กรได้อย่างดี หากขาดการเตรียมพร้อมในส่วนใดส่วนหนึ่งย่อมทำให้การดำเนินงานขององค์กรติดขัด

ความท้าทายของผู้บริหารในองค์กรอรูปนัย
องค์กรอรูปนัย ( Virtual organization ) เป็นองค์กรที่อาศัยระบบเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกับองค์กรอื่น ทำให้ความเป็นอิสระในการทำกิจกรรมต่างๆขององค์กรลดลง อีกทั้งการที่พนักงานขององค์กรทำงานในพื้นที่ที่ต่างกันดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจสูง การบริหารจัดการองค์องค์รูปแบบนี้จะเป็นการบริหารจัดการแบบกว้าง ( metamanagement ) ซึ่งหมายความว่าการบริหารจัดการของผู้บริหารไม่จำกัดอยู่เฉพาะในองค์กรเท่านั้นแต่รวมไปถึงการจัดการกับองค์กรภายนอก( Abbe 1997 ; 6)การที่สายบังคับบัญชาในองค์กรขาดความชัดเจนก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้บริหารจะต้องหาวิธีในการจัดการควบคุม คำถามที่ตามมาสำหรับผู้บริหารก็คือ จะมีการกระจายอำนาจ และรวมอำนาจแก่พนักงานในระดับไหน ? ผู้บริหารจะได้รับการยอมรับจากพนักงานหรือไม่? จะจัดการกับองค์กรภายนอกที่เป็นพันธมิตรกับองค์กรของตนอย่างไร ? จะมีการจัดการกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร? ( Casio 2000 ; 1 ) สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่ผู้บริหารจะต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการ
การเสริมความพร้อมให้กับตนเอง
สิ่งที่สำคัญทีผู้บริหารองค์กรอรูปนัยจะต้องเรียนรู้คือ การยอมรบในระบบการทำงานขององค์กรอรูปนัย ผู้บริหารที่ยึดติดกับสายบังคับบัญชา ให้ความสำคัญกับการรวมอำนาจสูง ย่อมไม่เหมาะสมที่จะเข้ามาบริหารจัดการองค์กรประเภทนี้ ผู้บริหารจะต้องมีทักษะในการติดต่อสื่อสารเป็นพื้นฐาน มีศิลปะในการสร้างแรงจูงใจ และในการมอบหมายงานสูง ผู้บรหารจะต้องหาวิธีที่จะทำให้พนักงานเกิดการยอมรับ
การจัดการกับพนักงานขององค์กร
ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ผู้บริหารองค์กรอรูปนัยจะต้องประสบ คือ การกระจายตัวของพนักงานตามพื้นที่ต่างๆ ( virtual team ) ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการในการติดตาม ควบคุม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท้าทายผู้บริหาร คือ การคัดเลือกพนักงานที่มีจริยธรรมสูง เข้ามาทำงานในองค์กร ( Ariss , Nikodym and Cole – Laramore 2002 ; 3 ) อีกทั้งการสร้างวิธีจูงในการทำงานแบบใหม่ การมอบหมายงานที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารจะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแบ่งแยกงานและการรวมงาน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การเปลี่ยนรูปแบบการวัดผลงานจากมุ่งเน้นเวลาในการทำงานมาเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์และความสำเร็จของงานมาเป็นเกณฑ์ในการวัดผล
การจัดการกับกลุ่มพันธมิตร
ผู้บริหารจะต้องพยายามจัดการให้เกิดผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ( win – win ) โดยความท้าทายที่ผู้บริหารจะต้องจัดการคือ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อลดการฉวยโอกาส ( Opportunism ) เพราะการติดตามควบคุมโดยใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
การจัดการกับระบบเทคโนโลยี
เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องจัดให้มีระบบเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ มีความมั่นคงสูง และจะต้องคำนึงถึงความเพียงพอของระบบพื้นฐานเหล่านี้ และเนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลง และต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี

กลไกสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กรอรูปนัย
กลไกที่ทำให้องค์กรอรูปนัยสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันประการแรกคือ กลไกการลดต้นทุน กล่าวคือ องค์กรอรูปนัยเน้นรูปแบบโครงสร้างองค์กรที่แบบราบ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนผู้บริหารบางส่วน เน้นการกระจายอำนาจให้แก่พนักงาน และการมอบหมายกิจกรรมการสร้างคุณค่าส่วนมากให้แก่องค์กรอื่นที่มีความชำนาญสูงเป็นผู้ทำแทน จึงทำให้องค์กรสามารถประหยัดต้นทุนจากการผลิตและการบริหารงาน
กลไกต่อมาคือกลไกการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน การที่องค์กรอรูปนัยมีการใช้ประโยชน์จากองค์กรในกลุ่มพันธมิตร (Alliances) ทำให้แต่ละองค์กรมีการใช้ประโยชน์จากความชำนาญเฉพาะด้านของกันและกัน และมุ่งเน้นการพัฒนาความชำนาญเฉพาะด้านของตน ทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแต่ละองค์กรสูงขึ้น ตลอดจนได้สินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพในทุกๆด้าน เพราะเกิดจากการรวมความชำนาญของแต่ละองค์กร
อีกกลไกหนึ่ง คือ กลไกในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม เพราะภายใต้ระบบเครือข่ายขององค์กรอรูปนัย เทคโนโลยีสารสนเทศจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง วัฒนธรรมองค์กรจะเป็นไปในทางที่ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงทำให้องค์กรสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรอื่น และภายใต้เครือข่ายระหว่างกลุ่มพันธมิตร องค์กรหนึ่งๆสามารถที่จะยกเลิกสัญญากับอีกองค์กรหนึ่งได้หากพบว่าสภาพแวดล้อมขององค์กรเปลี่ยนไป หรือพบว่ามีองค์กรดำเนินงานได้ดีกว่า ได้มาตรฐานกว่า หรือในต้นทุนที่ถูกกว่า

บทสรุป
องค์กรแบบอรูปนัยเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากมีการบริหารที่ดีผู้บริหารจะเห็นว่าองค์กรอรูปนัยสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาก ด้วยองค์กรรูปแบบนี้เองที่สามารถทำให้องค์กรขนาดเล็กสามารถมีผลการดำเนินงานเทียบเท่ากับองค์กรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น แต่ถ้าหากมีระบบการบริหารจัดการไม่ดีพอก็อาจทำให้เกิดผลเสียแก่การสร้างคุณค่าขององค์กรได้ เช่น การฉวยโอกาส (Opportunism ) เนื่องจากการองค์กรอรูปนัยเป็นการจัดการแบบกว้าง ( Metamanagement ) ซึ่งผู้บริหารมีความจำเป็นที่จะต้องทำการบริหารทั้งภายในและภายนอกองค์กร คือองค์กรที่เป็นพันธมิตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน และมีพื้นฐานขององค์กรต่างกัน เช่น ค่านิยมแห่งความสำเร็จ วิสัยทัศน์ จึงเป็นการยากที่จะสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในบางส่วนแล้วก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการจัดการองค์กรอรูปนัยคือการสร้างความเชื่อถือซึ่งกันและกัน และการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
นำชัย เติมศิริเกียรติ. การจัดการองค์กรธุรกิจ: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คณะบริหารธุรกิจ.
2545.

ภาษาอังกฤษ

Ahuja Manjuk, Calley Kathleen M. “ Network structure in virtual organizations”.
Organization Science.(online). ( 1999 ). available:
http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Ariss Sonny, Nykodym Nick ,and Cole – Laramore Aime A.
“Trust and technology in the virtual organization”. Advanced Management
Journal.( online ).( Autumn 2002) . availabel :
http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Black Janice A, Edwards Sandra. “ Emergence of virtual or network organizations”.
Journal of Organization Change Management.( online ) .( 2000 )
available: http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Casio Wayne F. “ Managing a virtual workplace”. Academy of Management
Executive.( online ). ( August 2000 ). Available :
http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Daboub Anthony J. “ Strategic alliances, network organization, and ethical
responsibility”.S.A.M.Advanced Management Journal.( online ). ( 2002).
Available :http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Dess , Rasheed . McLaughlin , Priem. “ The new corporate architecture”.
Academy of Management Executive.(online).( August 1995 ). Available ;
http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Donlon JP. “ The Virtual Organization” . Chief Executive. ( online ).( July 1997 ).
Available : http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp.
( Access : July 2003 ).

Faucheux Claude. “ how virtual organizing transforming management science”.
Communications of the ACM.( online ).( Sept 1997 ).available :
http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).

Jones R., Gareth . Organizational theory. 3rd Ed.U.S.A: Prentice – Hall. 2001.

Jones Thomas M, Bowie Norman E. 1998. “ moral hazards on the road to the virtual
coporation”. Business Ethics Quarterly. ( online ). ( April 1998 ).
Available: http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp. ( Access : July 2003 ).
Markus M lynne, Agres Brook, and Manville Carole E. “ what makes the
virtual organization work?”. Sloan Management Review.( online ).
( Fall 2000 ).Available : http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp.
( Access : July 2003 ).

Mohammad Reza Haririan. “ Virtual organization”. ( online ). ( 2003 ).available :
www.irne.com/virtual-org.htm. ( Access : August 2003 ).

Mowshowitz Abbe. “ Virtual Organization”. Communications of the ACM.
( online ).( 1997 ). available : http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp.
( Access : July 2003 ).


O Leary Daniel E, Kuokko, and Daniel Plant Robert. “ Artificial intelligence and
virtual organization”. Communication of the ACM. ( online).( Jan 1997).
Available : http://dbonline.lib.cmu.ac.th/abi/detail.nsp.
( Access : July 2003 ).

Zillur Rahman, SK Bhatthehryya. “ Virtual organization: A stratagem”.
Singapore Management Review.( online ). ( 2002 ). available :
http://proquest.umi.com/pqdweb?index. ( Access : July 2003 ).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น